รายงานกิจกรรม “อนาคตลูกหลานไทย”

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน  ปรากฏออกมาในสภาพการณ์ต่างๆทั้งในเรื่องเพศสัมพันธ์ ความรุนแรง วิถีบริโภคนิยม ค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับปัจเจกและกลุ่มตนมากกว่าส่วนรวม….”วัยรุ่นมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี เด็กกับผู้ใหญ่ก็คือคนซึ่งเป็นมนุษย์จึงมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี….”

 

กองบรรณาธิการ : ทีมสื่อสารสาธารณะ

 

สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน  ปรากฏออกมาในสภาพการณ์ต่างๆทั้งในเรื่องเพศสัมพันธ์ ความรุนแรง วิถีบริโภคนิยม ค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับปัจเจกและกลุ่มตนมากกว่าส่วนรวม พฤติกรรมที่ขาดฐานรากทางวัฒนธรรม ความกดดันจากการขาดโอกาสและการแข่งขันทางการศึกษา การเข้าสู่แรงงานก่อนวัยอันสมควร การขาดความเข้าใจและความตระหนักในสิทธิและเสรีภาพ กระทั่งเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองและภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่นที่ภาคใต้ฯ  ลักษณะของปัญหาที่เด็กและเยาวชนเผชิญนั้นมีความต่างกันในหลายมิติ ทั้งเรื่องของช่วงวัย กลุ่มพื้นที่ ลักษณะทางวัฒนธรรม ศาสนาและชาติพันธ์  รวมถึงความเข้มข้นและความชัดเจนของแต่ละปัญหา  ซึ่งบางปัญหาไม่ถูกกระทำให้เป็นวาระและไม่เป็นที่รับรู้ของสังคมในวงกว้าง ในขณะที่การนำเสนอปัญหาเด็กและเยาวชนที่เป็นปรากฏการณ์ผ่านสื่อมวลชน ทำให้สังคมรับรู้ในปัญหาอย่างแยกส่วน อาทิเช่น ปัญหาการเป็นผู้เสพและค้ายาเสพติด ปัญหาการลักทรัพย์และอาชญากรรม  การทะเลาะวิวาทในกลุ่มวัยรุ่น การมั่วสุมทางเพศ การหมกมุ่นกับเกมคอมพิวเตอร์และผลกระทบจากสื่ออื่นๆ ฯลฯ

 

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่จึงเห็นควรจัดเวทีการใคร่ครวญแลกเปลี่ยนในประเด็น อนาคตลูกหลานไทย เพื่อให้เกิดทิศทางในการแก้ไขและป้องกันปัญหา และเพื่อการแลกเปลี่ยน ข้อมูล ความคิดเห็น ประสบการณ์ อย่างตระหนัก ด้วยสำนึกร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยพลังสาธารณะ เพื่อหนุนเสริมการดำเนินการของภาครัฐ

โดยเมื่อวันเสาร์ที่  29  มกราคม  ที่ผ่านมา  เวลา 17.00 – 20.00 น. ณ ลานแพร่งภูธร (หลังสถานีกาชาด)  ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ    มีการบันทึกเทปรายการโทรทัศน์เวทีพลเมืองไท  บ้านเมืองเรื่องของเรา”   ตอน อนาคตลูกหลานไทย   มีผู้เข้าร่วมกว่า 80 

คนผู้ดำเนินรายการคือ นายก่อเขต  จันทเลิศลักษณ์ จากเนชั่น แชนแนล และ อาจารย์ขวัญสรวง  อติโพธิ จากสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม

นายแบงค์  งามอรุณโชติ   นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  วัยรุ่นมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี เด็กกับผู้ใหญ่ก็คือคนซึ่งเป็นมนุษย์จึงมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี แต่ควรให้ความสำคัญกับกระบวนการที่จะแก้ไขให้ดีน้อยเป็นดีมาก การให้ความสำคัญกับแบบอย่างที่ดีก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเด็กและเยาวชน  วัยรุ่นอยู่ในสภาพการบริโภคเกินพอดี ซึ่งเกิดจากการผลิตที่เกินพอดี และมาจากกลุ่มผู้ใหญ่ที่ผลิตสินค้าเช่น เสื้อผ้า สุรา ยาเสพติด      การแก้ไขปัญหาต้องมีการร่วมกันแก้ไขปัญหาทั้งเด็กและผู้ใหญ่

 

ตัวแทนเยาวชนจากชุมชนคลองเตย   ตอนนี้ผมอยู่ในชุมชนที่มีปัญหา

มาก มียาเสพติด มีปัญหาสังคมมาก  มีคนจ้องแต่จะไล่ที่ให้ไปอยู่ที่อื่น ผมมองอนาคตโดยรวมของเยาวชนว่า ผู้ใหญ่ควรช่วยกันแก้ปัญหา พร้อมกับเด็ก คือเด็กมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา”

 

ตัวแทนเยาวชนจาก จ.ชัยภูมิ    ว่ากันเรื่องกฎหมาย ถ้ามีการอนุญาตให้เด็กเยาวชนอายุ 18 ปี สามารถไปเที่ยวผับได้ แต่ต้องมีผู้ปกครองพาไป หรือทางโรงเรียนอาจจะจัดทัศนศึกษาไปทัวร์ผับ และให้มาวิเคราะห์สาเหตุปัญหา ว่าเป็นอย่างไร

 

ตัวแทนสมัชชาเด็กและเยาวชนจาก จ.อุบลราชธานี    สื่อเป็นตัวการที่ทำให้เยาวชนเกิดการลอกเลียนแบบ ถ้าเลียนแบบในด้านไม่ดีก็จะทำให้เกิดปัญหาแต่ปัญหาหลายอย่าง ผู้ใหญ่ก็ทำเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นข่าวฆ่ากันตายก็เป็นเพราะผู้ใหญ่ แล้วพอเด็กทำบ้างก็หาว่าเด็กทำเกินไป

ทางแก้ คือ รัฐบาลน่าจะทุ่มงบประมาณให้กับการศึกษามากขึ้น

ด้านนพ.พลเดช  ปิ่นประทีป    ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาประชาสังคม  กล่าวว่า โครงการชีวิตสาธารณะทำงานใน 35 จังหวัด ในแต่ละพื้นที่มีปัญหาแตกต่างกันไป ปัญหาเยาวชนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นโดยตลอดแต่มีความเข้มข้นหรือเบาบางลงตามเหตุปัจจัยต่างๆตามระยะเวลาที่ผ่านมา  สิ่งที่ทำให้สนใจในปัญหาด้านนี้เพิ่มขึ้น เมื่อได้ฟังผู้นำศาสนาทางใต้ว่า ปัญหาที่เกิดที่ภาคใต้เหตุหนึ่งเป็นเพราะเราปล่อยปละละเลยและทอดทิ้งเยาวชนเนิ่นนานเกินไป ทั้งครอบครัวและการที่ภาครัฐแยกเป็นส่วนๆในการดูแลเยาวชน ประกอบกับสถานการณ์ข่าวคราวทั้งแก็งซามูไร ซึ่ง ไล่ยิงกันทำเป้า ประเด็นของเยาวชนนั้นปัจจุบันเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญทั้งขนาด ความเข้มข้นและความซับซ้อน      การปล่อยให้เป็นเรื่องของหน่วยงานใดนั้นไม่ได้ เพราะมองในองค์รวมแล้วเป็นเรื่องข้ามกระทรวง รวมทั้งหมด นโยบายการเลือกตั้งของพรรคต่างก็ยังขาดนโยบายด้านนี้

 

ต่อมาดร.โคทม  อารียา  ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก  กล่าวว่า ปัญหาเด็กเยาวชนขณะนี้มองในเรื่องสุขภาวะ บริโภคนิยมเป็นปัญหาคือการบริโภคเกินพอดี อยู่ไม่พอดี เช่นไม่กินอาหารเช้า เสพยาเสพติด ไม่ออกกำลังกาย ส่วนเรื่องใจขณะนี้เราต้องการให้เยาวชนได้รับการพักผ่อนที่ดี แต่เมื่อสำรวจพบว่าเยาวชนอยู่หน้าจอโทรทัศน์มากเกินไป ไม่อ่านหนังสือ การท่องเที่ยวต่างๆก็ไม่หลากหลายเป็นการเที่ยวตามกระแส   ปัจจุบันขาดชุมชนที่จะเป็นเครือข่ายที่จะดูแล และรัฐก็ไม่ได้จัดเครือข่ายการดูแลที่เพียงพอ ปัญหาต่างๆเชื่อมโยงและส่งผลกระทบไปถึงเยาวชน   ส่วนเรื่องจิตวิญญาณนั้นเราขาดการกล่อมเกลาเช่นปัจจุบันไม่มีการเรียนรู้ทางศาสนา ทำอย่างไรจึงจะจัดการดูแลที่ดีขึ้นมาทดแทน

 

พญ.กมลพรรณ  ชีวพันธุศรี  จาก เครือข่ายปฏิรูปการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชน   ปัญหาเด็กเยาวชนผู้ใหญ่เป็นคนสร้าง และรัฐยังไม่มีการควบคุมที่ดีทั้งเรื่องสื่อที่นำเสนอชี้นำถึงด้านที่ไม่ดี และยังขาดการนำเสนอด้านที่ดี การให้ความรู้กับพ่อแม่ในเรื่องการเลี้ยงดู การมีองค์กรให้คำปรึกษากับสื่อต่างๆที่จะนำเสนอ เพื่อกลั่นกรอง ควรมีชมรมเยาวชนในทุกพื้นที่ ควรมีองค์กรครูที่ให้ความรู้ช่วยเหลือได้ อยากให้มีวิจัยในสถานพินิจที่จะป้องกันปัญหาต่างๆได้

 

ดร.สมพงษ์  จิตระดับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย     การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องส่งผลกระทบกับเด็ก ในหลายประเทศสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการคุ้มครองเด็กได้ ก่อนหน้านี้รัฐบาลละเลยมาโดยตลอดหลายรัฐบาล แต่กลับกลายเป็นการส่งเสริมบริโภค และเด็กเป็นตลาดใหญ่แต่เราเพิ่งมาเริ่มกันในระยะนี้    ปัญหาของวัยรุ่นด้านหนึ่งคือสังคมเราไม่สอนให้รู้กฎหมาย ให้เข้าใจปรัชญา ตรรกะ ที่มาที่ไปจึงไม่รู้ว่าออกมาเพื่อคุ้มครองหรือละเมิดสิทธิของเขา ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นคือนโยบายเด็กหาเสียงไม่ได้ และนโยบายที่ทำกับเด็กก็จะเป็นนโยบายรอง อีกประเด็นคือในระบบราชการในเชิงโครงสร้างมีการทำงานแยกส่วน ปัญหาเรื่องเด็กก็แยกกันทำคนละด้าน เราไม่มีมิติของการมองปัญหาภาพรวมในเชิงโครงสร้าง  เป็นวัฒนธรรมต่างคนต่างทำและไม่ได้เอาเด็กเป็นตัวตั้ง แต่ใช้งบประมาณของกระทรวงตนเองเป็นตัวตั้ง  ด้านองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็กก็มีลักษณะแบบสังคมสงเคราะห์คือต่างคนต่างทำคนละไม้ละมือ หากเทียบกับหน่วยงานรัฐก็มีวัฒนธรรมต่างกันสิ้นเชิง ไม่คิดถึงโครงสร้างและการเชื่อมโยง    การเคลื่อนไปข้างหน้าคงต้องมองกรอบก่อน ว่าการพัฒนาประเทศเราจะต้องทำอะไรเพื่อสังคมข้างหน้า  เราก็ต้องเอาเด็ก เอานโยบายภาคประชาสังคมเป็นตัวตั้ง และมีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานและแชร์ทรัพยากร

 

คุณมนตรี  สินทวิชัย เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก   ปัญหาที่เยาวชนเผชิญเป็นปัญหาร่วมของคนทุกวัย แต่ที่มองเฉพาะวัยรุ่นเพราะเป็นการมองวัยรุ่นให้เป็นอื่น นโยบายของรัฐด้านหนึ่งคือการทำลายครอบครัวและชุมชน อีกด้านหนึ่งคือการแก้ไขปัญหาเช่นโครงการต่างๆ การคิดนโยบายของรัฐยังขาดการพัฒนาที่ระมัดระวังผลกระทบต่อชุมชน สังคมและเด็กเยาวชน การให้โอกาสเป็นสิ่งสำคัญ ปัจจุบันการพัฒนาเด็กเยาวชนเป็นมุมมองเชิงอำนาจ ไม่มีการให้โอกาสและเสรีภาพกับเด็ก     เช่นการสักยันต์ของเด็กก็ถูกมองผิดไปจากผู้ใหญ่ที่สักยันต์ เด็กจึงในภาวะเดียวกับคนชายขอบ       หากกรอบการพัฒนาคำนึงถึงเด็กเยาวชน การศึกษาก็จะเปลี่ยนและทำให้เด็กพัฒนาศักยภาพตัวเองได้

          ติดตามรายงานกิจกรรมครั้งต่อไปในตอนสุดท้ายของรายการ บ้านเมืองเรื่องของเรา ตอน    ท้องถิ่นไทยกับการร่วมกำหนดอนาคตตนเอง

Be the first to comment on "รายงานกิจกรรม “อนาคตลูกหลานไทย”"

Leave a comment

Your email address will not be published.